Blogger จัดทำขึ้นเพื่อบอกต่อความรู้ให้ผู้ที่สนใจในเนื้อหานี้ ไม่มากก็น้องน่ะครับผม เชิญชม หรือให้คำแนะนำมาได้เลยน่ะครับ

WELCOME TO BLOGGER *TOPFY :")

วันอังคารที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2556

งานวิชาการ เรื่องความปลอดภัยในการใช้รถใช้ทางเดินรถ



การจราจร นับได้ว่าเป็นปัญหาสังคมปัญหาหนึ่งที่มีความสำคัญต่อประเทศชาติ และนับวันจะทวีความรุนแรงของปัญหาเพิ่มมากขึ้นไปเรื่อย ๆ โดยมีสาเหตุต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมากมายหลายประการ กล่าวคือ ความเจริญเติบโตของเมืองหรือชุมชนได้ขยายตัวออกไปอย่างรวดเร็ว ประกอบการการวางผังเมืองยังขาดการวางแผนไม่ดีพอ อีกทั้งจำนวนรถได้เพิ่มปริมาณขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ทางเดินรถมีไม่เพียงพอกับปริมาณรถที่เพิ่มขึ้น ถนนบางเส้นทางชำรุด บางเส้นทางสร้างไม่ได้มาตรฐาน ป้ายเครื่องหมายจราจร สัญญาณไฟจราจรที่ติดตั้งไว้ตามถนนหนทางต่างๆมีไม่เพียงพอ บางแห่งชำรุด หรือบางแห่งติดตั้งไว้ในที่ที่ไม่เหมาะสม อีกทั้งผู้ขับขี่ผู้ใช้รถใช้ทางเดินรถ ละเลยไม่เคารพไม่ปฏิบัติตามกฎหมายจราจร จึงก่อให้เกิดอุบัติเหตุ ทำให้ต้องสูญเสียชีวิตร่างกายและทรัพย์สินไปเป็นจำนวนมาก


ความปลอดภัยในการใช้รถใช้ทางเดินรถ
การใช้รถใช้ทางเดินรถให้เกิดความปลอดภัย ผู้ขับขี่ต้องเคารพและปฏิบัติตามกฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด อันจะเป็นแนวทางช่วยแก้ไขปัญหาการจราจร ลดอุบัติเหตุ ลดการสูญเสียชีวิต ทรัพย์สินลงได้ กล่าวคือ
1. รถที่จะนำมาใช้ในทางเดินรถ
1.1 ต้องนำไปจดทะเบียนและเสียภาษีประจำปี พร้อมสำเนาคู่มือจดทะเบียนรถไว้ประจำรถด้วย
1.2 ต้องมีเครื่องยนต์ ส่วนควบ อุปกรณ์ครบถ้วน และใช้การได้ดีต้องมีสภาพมั่นคงแข็งแรง และมีความปลอดภัย

1.3 ต้องนำรถไปตรวจสภาพเป็นประจำทุกปี

2. การขับรถในทางเดินรถ
2.1 ผู้ขับขี่ต้องมีใบอนุญาตขับขี่ และนำใบอนุญาตขับขี่ติดตัวไปด้วยทุกครั้งในขณะขับรถ
2.2 ต้องขับรถในทางเดินรถด้านซ้าย และไม่ล้ำกึ่งกลางของทางเดินรถ
2.3 ต้องใช้ความระมัดระวังไม่ให้รถชน หรือโดนคนเดินเท้า ไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใดของทาง
2.4 ผู้ขับขี่ต้องไม่ถือหรือใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ขณะขับขี่ เว้นแต่ใช้อุปกรณ์เสริมสำหรับการสนทนา
2.5 ต้องไม่ดื่มสุราหรือของมึนเมาอย่างอื่นในขณะขับขี่ (มีแอลกอฮอร์ในร่างกายเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ถือว่าเมาสุรา) 
2.6 ผู้ขับขี่รถยนต์และผู้โดยสารต้องคาดเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่ง ขณะขับขี่รถยนต์หรือโดยสาร
2.7 ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์และผู้โดยสารต้องสวมหมวกนิรภัย ขณะขับขี่หรือโดยสาร
2.8 ต้องขับรถไม่เร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด
-ในเขตเทศบาล เมืองพัทยา กทม. ความเร็วไม่เกิน 80 กม. / ชั่วโมง
-นอกเขตเทศบาล เมืองพัทยา กทม. ความเร็วไม่เกิน 90 กม. / ชั่วโมง
-ทางพิเศษหรือทางด่วน ความเร็วไม่เกิน 120 กม. / ชั่วโมง ทั้งนี้ต้องปฏิบัติตามเครื่องหมายจราจรที่ปรากฏบนทางนั้น ๆ ด้วย

3. ผู้ขับขี่จะเลี้ยวรถ ให้รถคันอื่นผ่านหรือแซง เปลี่ยนช่องเดินรถ ลดความเร็วของรถ จอดรถหรือหยุดรถ ปฏิบัติดังนี้
ต้องให้สัญญาณด้วยมือและแขนของผู้ใช้รถ หรือไฟสัญญาณของรถ ดังนี้
- ลดความเร็ว ยื่นแขนขวาตรงออกไป โบกมือและแขนขึ้นลงหลายครั้ง
- หยุดรถ ยื่นแขนขวาตรงออกไป แขนท่อนล่างตั้งฉากกับแขนท่อนบน และตั้งฝ่ามือขึ้น หรือให้ไฟสัญญาณสีแดงท้ายรถ
- ให้แซงขึ้นหน้า ยื่นแขนขวาตรงออกไป โบกมือไปข้างหน้าหลาย ๆ ครั้งหรือให้ไฟสัญญาณยกเลี้ยวด้านซ้ายของรถ
- เลี้ยวขวา ยื่นแขนขวาตรงออกไปเสมอระดับไหล่ หรือให้ไฟสัญญาณยกเลี้ยวข้างขวา
- เลี้ยวซ้าย ยื่นแขนขวาและงอมือชูไปทางซ้ายหลาย ๆ ครั้ง หรือไฟสัญญาณยกเลี้ยวข้างซ้าย
4. การขับรถผ่านทางร่วมทางแยก หรือวงเวียน
4.1 ถ้ามีรถอยู่ในทางร่วมทางแยก ให้รถในทางร่วมทางแยกนั้นผ่านไปก่อน
4.2 ถ้ามาถึงทางร่วมทางแยกพร้อมกัน และไม่มีรถอยู่ในทางร่วมทางแยก ให้รถที่อยู่ทางด้านซ้ายของตนขับผ่านไปก่อน เว้นแต่ทางเอกตัดผ่านทางโท

5. การขับรถลงจากทางลาดชัน หรือภูเขา ควรปฏิบัติดังนี้
5.1 ห้ามใช้เกียร์ว่าง
5.2 ห้ามเหยียบคลัตช์
6. เมื่อผู้ขับขี่พบรถฉุกเฉิน
6.1 ต้องหยุดหรือจอดรถให้ชิดขอบทางด้านซ้าย แต่ห้ามหยุดหรือจอดรถในทางร่วมทางแยก
6.2 ขับรถตามหลังรถฉุกเฉิน ต้องมีระยะทางไม่ต่ำกว่า 50 เมตร
7. การจอดรถ
7.1 ต้องจอดรถให้ขนานหรือชิดกับขอบทางในระยะห่างไม่เกิน 25 เซนติเมตร
7.2 การจอดรถที่ผู้ขับขี่ไม่อาจอยู่ควบคุมรถ ผู้ขับขี่ต้องดับเครื่องยนต์ และห้ามล้อรถนั้นไว้
7.3 ข้อห้ามการจอดรถที่สำคัญ อาทิเช่น
- ในระยะ 3 เมตร จากตู้ไปรษณีย์ ทางข้าม ท่อน้ำดับเพลิง
- ในระยะ 5 เมตร จากปากทางเดินรถ
- ในระยะ 10 เมตร จากทางร่วมทางแยกที่ติดตั้งสัญญาณไฟจราจร
- ในระยะ 15 เมตร จากทางรถไฟผ่าน
8. การขับแซงและผ่านขึ้นหน้า
8.1 การแซงรถต้องแซงทางด้านขวา โดยมีระยะห่างจากรถที่ถูกแซงพอสมควร แล้วจึงขับรถชิดทางด้านซ้ายของทางเดินรถ
8.2 ต้องให้สัญญาณไฟกระพริบข้างขวา เพื่อให้รถคันหลังรู้ว่าจะแซง
8.3 ข้อห้ามการแซงที่สำคัญ อาทิเช่น
- เมื่อรถขึ้นทางชันหรือขึ้นสะพาน หรืออยู่ในทางโค้ง
- ในระยะ 30 เมตร ก่อนถึงทางร่วมทางแยก หรือวงเวียน
- เมื่อมองไม่เห็นทางข้างหน้าในระยะ 60 เมตร
- เมื่อเข้าที่คับขัน หรือเขตปลอดภัย
9. คนเดินเท้า

9.1 คนเดินเท้า หมายถึง คนเดินทาง ผู้ใช้เก้าอี้ล้อสำหรับคนพิการ หรือรถเข็นสำหรับเด็ก
9.2 ห้ามคนเดินเท้าข้ามทางภายในระยะไม่เกิน 100 เมตร นับจากทางข้าม
9.3 การข้ามทางเดินรถในทางร่วมทางแยก ที่มีสัญญาณไฟจราจรควบคุมการใช้ทางต้องปฏิบัติ ดังนี้
- ไฟสัญญาณสีแดง ให้คนเดินเท้าข้ามทางเดินรถในทางข้าม
- ไฟสัญญาณสีเขียว ห้ามมิให้คนเดินเท้าข้ามทางเดินรถด้านนั้น
- ไฟสัญญาณสีเหลืองอำพัน หรือสีเขียวกระพริบ ให้คนเดินเท้าหยุดรอบนทางเท้าหรือเกาะแบ่งทางเดินรถ หรือในเขตปลอดภัย

10. เมื่อมีอุบัติเหตุจราจรเกิดขึ้น
10.1 ผู้ขับขี่ที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่คนหรือทรัพย์สินของผู้อื่น ต้องหยุดรถ และให้ความช่วยเหลือตามสมควร
10.2 ต้องแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ใกล้เคียงทันที
10.3 ต้องแจ้งชื่อ ที่อยู่ของตน และเลขทะเบียนรถ พร้อมแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที
10.4 ต้องแจ้งชื่อตัว ชื่อสกุล ที่อยู่ของตน และหมายเลขทะเบียนรถแก้ผู้ได้รับความเสียหายด้วย
10.5 หากผู้ขับขี่หลบหนี ไม่แสดงตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สถานที่เกิดเหตุ ให้สันนิษฐานว่าเป็นผู้กระทำผิด และให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจยึดรถคันที่หลบหนี จนกว่าคดีจะถึงที่สุด หรือได้ตัวผูกระทำผิด



สรุป
จึงได้เสนอบทความทางวิชาการ เรื่องความปลอดภัยในการใช้รถใช้ทางเดินรถ ซึ่งเป็นแนวทางเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระเบียบ กฎหมายจราจรอีกทั้งยังเป็นการช่วยแก้ไขปัญหาการจราจร ปลูกฝังวินัยการจราจร ช่วยลดอุบัติเหตุ ลดการสูญเสียทรัพย์สิน ชีวิต ร่างกาย อันจะเป็นแนวทางให้ผู้ใช้รถใช้ทางเดินรถ เพื่อให้ประชาชนและคนใช้รถใช้ถนน ได้ถือปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้รถใช้ทางเดินรถ
อ้างอิง
-กองบัญชาการศึกษา, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ. คู่มือตำรวจ เล่ม 8.
กรุงเทพฯ : คุรุสภาลาดพร้าว, 2550.
-ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน
-กรมการขนส่งทางบก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น